วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับวิธีนำเอาระบบ CMMS ไปใช้งาน

             ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศอุตสาหกรรมได้ใช้ค่าใช้จ่ายไปเพื่อนำเอาระบบ CMMS ( Computerized Maintenance Management System ) มาใช้งานในสถานประกอบการต่างๆ ทั้งที่เป็นระบบ CMMS โดยเฉพาะอย่างเดียว หรือที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการวางแผนทรัพยากรสำหรับวิสาหกิจหรือการประกอบกิจการที่นิยมเรียกกันโดยใช้ตัวย่อว่าระบบ ERP ( Enterprise Resource Planning ) หรือ เป็นระบบที่พัฒนามาจากระบบการจัดการสินทรัพย์สำหรับวิสาหกิจที่นิยมเรียกกันโดยใช้ตัวย่อว่า ระบบ EAM ( Enterprise Asset management )    คิดเป็นเงินรวมกันหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี ( มากกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ) โดยเป็นค่าใช้จ่ายทั้ง ค่าโปรแกรม ค่าปรับปรุงเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายที่มีอยู่ ค่าจ้างที่ปรึกษาในการวางระบบและค่าจ้างบุคลากรภายนอกมาช่วยดำเนินการในบางเรื่อง ค่าจ้างพนักงานทั้งเก่าและใหม่ที่จะต้องใช้ในการเตรียมการเพื่อให้สามารถรองรับกับระบบที่จะนำมาใช้ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้อง และค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการนำเอาระบบ CMMS มาใช้ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมในการนำระบบ CMMS มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร จึงได้มีความพยายามของผู้ผลิตและพัฒนาโปรแกรม CMMS ERP และEAM ที่จะลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวลงและเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการนำเอาระบบ CMMS ไปใช้งาน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ระบบให้สูงขึ้นด้วย โดยกลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้มีความเห็นร่วมกันว่าสถานประกอบการที่นำเอาระบบ CMMS ไปใช้แล้วต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงและ/หรือไม่ประสพความสำเร็จนั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยที่เหมือนกันประการหนึ่งก็คือ การขาดรูปแบบสำหรับวิธีการนำเอาระบบ CMMS ไปใช้งานที่เหมาะสมของสถานประกอบการแต่ละแห่ง


              แม้ว่ารูปแบบสำหรับวิธีการนำเอาระบบ CMMS ไปใช้งานที่เหมาะสมของสถานประกอบการแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป แต่การพัฒนารูปแบบของวิธีการจะคล้ายกัน ดังนั้นหากมีรายละเอียดของการพัฒนารูปแบบสำหรับวิธีการนำเอาระบบ CMMS ไปใช้งาน แล้วสถานประกอบการสามารถนำเอาไปเป็นแนวทางเพื่อกำหนดรูปแบบสำหรับวิธีการนำเอาระบบ CMMS ไปใช้ตามความเหมาะสมของสถานประกอบการนั้นๆ ก็จะสามารถแก้ปัญหาข้างต้นได้ในระดับหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนหรือสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก ซึ่งการพัฒนารูปแบบดังกล่าวควรพิจารณากำหนดรายละเอียดในด้านที่สำคัญๆคือ

     1. การกำหนดทิศทางและบทบาทของงานบำรุงรักษาในสถานประกอบการ
     2. การกำหนดฐานข้อมูลที่ต้องการ
     3. การกำหนดความต้องการในการฝึกอบรม

              และเมื่อมีการกำหนดรายละเอียดที่สำคัญในด้านต่างๆข้างต้นแล้ว จึงเป็นการกำหนดขั้นตอนในการนำเอาระบบ CMMS มาใช้งานและการผนวกระบบ CMMS เข้ากับระบบงานประจำ


การกำหนดทิศทางและบทบาทของงานบำรุงรักษา
              การกำหนดทิศทางและบทบาทของงานบำรุงรักษาในสถานประกอบการเมื่อนำเอาระบบ CMMS มาใช้นับว่าเป็นส่วนหรือขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดความต้องการที่จำเป็นในด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาของการนำเอาระบบ CMMS ไปใช้งานที่เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเอาระบบไปใช้แล้วส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกำหนดทิศทางและบทบาทของงานบำรุงรักษาในสถานประกอบการที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่พอเพียง
              การกำหนดทิศทางและบทบาทของงานบำรุงรักษาจะต้องครอบคลุมเรื่องต่างๆทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อใช้กำหนดแนวทางในการตัดสินใจเพื่อให้การดำเนินงานบำรุงรักษาเมื่อได้นำเอาระบบ CMMS มาใช้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นทิศทางและบทบาทของงานบำรุงรักษาของสถานประกอบการควรประกอบด้วย

1. การกำหนดดัชนีวัดผลสำเร็จ ( Key Performance Indicators, KPIs ) ระดับสูงที่สถานประกอบการต้องการจะใช้ในการติดตาม ตรวจสอบและควบคุมสมรรถนะของการบำรุงรักษา ซึ่งดัชนีวัดผลสำเร็จที่นิยมใช้กันมีคือ
    * ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของการบำรุงรักษา ( Unit Costs for Maintenance ) ต่อเครื่องจักร ต่อพนักงาน และต่อค่าใช้จ่ายในการผลิต เป็นต้น
    * ประสิทธิผลเครื่องจักรโดยรวม ( Overall Equipment Effectiveness ) สมรรถนะความพร้อมใช้งานของเครื่องจักร ( Availability Performance ) สมรรถนะความเชื่อถือได้ ( Reliability Performance ) สมรรถนะสนับสนุนการบำรุงรักษา ( Maintenance Support Performance ) สมรรถนะการบำรุงรักษาได้ ( Maintainability Performance ) สมรรถนะอัตราเร็วการผลิต ( Production Speed Performance ) และสมรรถนะคุณภาพ ( Quality Performance ) เป็นต้น

2.  การกำหนดนิยามและรายละเอียดของการลงทุนและค่าใช้จ่ายของ   การดำเนินงานบำรุงรักษา

3.  การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบรวมทั้งอำนาจในการอนุมัติของแต่ระดับตำแหน่งในหน่วยงานบำรุงรักษา

4. การกำหนดนิยามและรายละเอียดของงานบำรุงรักษาประเภทต่างๆและหลักเกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญของงานบำรุงรักษาแต่ละประเภท

5. การกำหนดนิยามและรายละเอียดของการสั่งงาน ( Work Order ) และการขอให้ทำงาน ( Work Request ) แต่ละประเภท

6. การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดรวมทั้งระดับความสำคัญในการใช้ทรัพยากรการบำรุงรักษา ( ได้แก่ พนักงาน เครื่องมือ และวัสดุ เป็นต้น )

7. การกำหนดตัวเทียบวัด ( Benchmarking ) ที่จำเป็น เช่น เปอร์เซ็นต์ของงานบำรุงรักษาแต่ละประเภท (  ตัวอย่างเช่น งานบำรุงรักษาป้องกันตามกำหนดเวลาควรจะเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ งานบำรุงรักษาตามสภาพควรจะเป็น 30 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า งานบำรุงรักษาปรับปรุงควรจะเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ และงานบำรุงรักษาแก้ไขที่ไม่มีแผนหรือการซ่อมเนื่องจากการชำรุดเสียหายที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ไม่ควรเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของงานบำรุงรักษาทั้งหมด เป็นต้น )

8. กำหนดกระบวนการของการจัดการด้านต่างๆที่จำเป็นต้องมีในการดำเนินงานบำรุงรักษา รวมทั้งการกำหนดดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของกระบวนการเหล่านี้ด้วย ซึ่งการดำเนินงานบำรุงรักษาโดยทั่วไปจะประกอบด้วยกระบวนการต่างๆคือ

       * กระบวนการวางแผนงานบำรุงรักษา ซึ่งดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของกระบวนการนี้ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ของงานบำรุงรักษาที่มีแผน และเปอร์เซ็นต์ของงานบำรุงรักษาที่ไม่มีแผน เป็นต้น
       * กระบวนการปฏิบัติงานตามแผนหรือตามการขอให้ทำงาน ซึ่งดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของกระบวนการนี้ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ของงานที่สามารถปฏิบัติได้ตามแผน และเปอร์เซ็นต์ของงานที่สามารถปฏิบัติได้ตามการขอ เป็นต้น
       * กระบวนการรายงานและควบคุมการปฏิบัติงาน ซึ่งดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของกระบวนการนี้ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ของรายงานผลการปฏิบัติงานที่สมบูรณ์ และเปอร์เซ็นต์ของงานบำรุงรักษาที่ไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
       * กระบวนการจัดการกับงานบำรุงรักษาที่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของกระบวนการนี้ได้แก่ อายุและจำนวนของงานที่ไม่แล้วเสร็จในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น
       * กระบวนการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยรวมทั้งปัญหาในด้านเทคนิคและปัญหาในด้านการจัดการ ซึ่งดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของกระบวนการนี้ได้แก่ จำนวนของปัญหาที่นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุรากและวิธีแก้ไขในแต่ละช่วงเวลา และเปอร์เซ็นต์ของปัญหาที่ได้ทำการแก้ไขไปแล้ว เป็นต้น
       * กระบวนการจัดการด้านอะไหล่และวัสดุ โดยรวมตั้งแต่การกำหนดความต้องการ การจัดหา การจัดเก็บ และการเบิกจ่าย ซึ่งดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของกระบวนการนี้ได้แก่ ระดับการให้บริการ และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ เป็นต้น

ที่มาCMMS Learning Center
สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
บริษัท ไอเอส ซอฟต์แวร์ จำกัด 

โปรแกรมบริหารงานซ่อมบำรุง ที่ทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น